:: แผนพัฒนาทรัพยากรที่ดิน ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554) ::
สรุปสาระสำคัญ แผนพัฒนาทรัพยากรที่ดิน ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554)
ความนำ
                 การพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) มุ่งเน้นให้ประเทศสามารถดำรงอยู่อย่างมั่นคงในกระแสโลกาภิวัตน์ จำเป็นต้องสร้างความแข็งแกร่งของระบบและโครงสร้างต่างๆ ภายในประเทศให้สามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น และสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ความสำคัญต่อการนำทุนของประเทศที่มีศักยภาพและความได้เปรียบ ทั้งทุนสังคม ทุนเศรษฐกิจ และทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการและเกื้อกูลกัน โดยการเสริมสร้างทุนสังคม พัฒนาคนให้มีคุณภาพ คุณธรรม นำความรอบรู้อย่างเท่ากัน เสริมสร้างทุน เศรษฐกิจให้มีคุณภาพ เสถียรภาพและเป็นธรรม มุ่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ มีภูมิคุ้มกันความเสี่ยงจากความผันผวนของสภาพแวดล้อม เสริมสร้างทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยดำรงความหลากหลายทางชีวภาพและสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อม สร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
                 โดยมีผลการพัฒนาทรัพยากรที่ดินต่อเนื่องมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1-9 และทิศทางการพัฒนาทรัพยากรที่ดินในช่วงแผนพัฒนา ฉบับที่ 10 โดยสรุป ดังนี้
1. การพัฒนาทรัพยากรที่ดินในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1-8 (2504-2544)
                 นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกรมพัฒนาที่ดิน ในปี 2506 จนถึงปี 2544 รวม 38 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1-8 กรมพัฒนาที่ดินมีผลการดำเนินงานสำคัญ ได้แก่ การจัดทำฐานข้อมูลดินและการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้ทำการสำรวจวิเคราะห์ และจำแนกดิน รวมทั้งสำรวจสภาพการใช้ที่ดินทั่วประเทศ ทำให้ทราบสภาพปัญหาดินและที่ดินของประเทศ จัดทำแผนการใช้ที่ดินระดับประเทศ ระดับภาค และระดับจังหวัดทั่วประเทศ ตลอดจนจัดทำแผนที่ความเหมาะสมของดินกับการปลูกพืชเศรษฐกิจ และแผนที่ป่าไม้ถาวร ซึ่งในระยะต่อมาได้พัฒนาข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่ระบบ GIS โดยมีฐานข้อมูลสำคัญ 3 ฐานข้อมูล ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ คือ ฐานข้อมูลดิน ฐานข้อมูลสภาพการใช้ที่ดิน ฐานข้อมูลแผนที่แสดงป่าไม้ถาวร พัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกรมพัฒนาที่ดิน ด้านการวิจัยการพัฒนาที่ดิน ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ที่ดินและการพัฒนาที่ดิน ด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ และด้านการปรับปรุงบำรุงดินและแก้ไขดินที่มีปัญหาทางการเกษตร งานพัฒนาที่ดินอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การพัฒนาพื้นที่เฉพาะ กรมฯได้เริ่มพัฒนาโครงการพัฒนาที่ดินในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 2.1 ล้านไร่ ในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร ศรีสะเกษ และสุรินทร์
2. การพัฒนาทรัพยากรที่ดินของกรมพัฒนาที่ดินในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549)
                  กรมพัฒนาที่ดิน ได้พัฒนาฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดิน เพื่อให้เป็นฐานการผลิตพืชที่ปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืน ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การจัดทำข้อมูลทรัพยากรที่ดิน ด้านการจัดทำเขตการใช้ที่ดินและประเมินผลผลิตพืชเศรษฐกิจได้จัดทำเขตการใช้ที่ดิน 24 ชนิดพืช จัดทำแผนพัฒนาทรัพยากรที่ดินระดับตำบล 7,125 ตำบล โครงการจัดทำแผนที่ภาพถ่ายออร์โธสีเชิงเลข มาตราส่วน 1:4,000 และมาตราส่วน 1:25,000 ภายใต้โครงการจัดทำแผนที่เพื่อการบริหารทรัพยากรธรรมชาติและทรัพย์สินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ งานพัฒนา แหล่งน้ำ จำแนกเป็น 4 ประเภท ซึ่งได้แก่ งานพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ปรับปรุงพื้นที่และจัดทำระบบส่งน้ำในไร่นา ปรับปรุงแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งผลิตชุมชน งานพัฒนา แหล่งน้ำในไร่นา ขนาด 1,260 ลบ.ม. การรณรงค์ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ด้านการปรับปรุงคุณภาพดิน พื้นที่ดินที่มีอินทรียวัตถุต่ำ พื้นที่ดินเปรี้ยว/ดินกรด พื้นที่ดินเค็ม พื้นที่ดินเปรี้ยว-ดินเค็มภาคใต้ การพัฒนาพื้นที่การเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พัฒนาหมอดินอาสาประจำตำบล/หมู่บ้าน
3. การพัฒนาทรัพยากรที่ดินในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (2550 - 2554)
                 ภาคการเกษตรมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรได้ส่งผลกระทบที่สำคัญต่อภาคการเกษตรและเกษตรกรของไทย ทำให้ประเทศไทยต้องมีการปรับตัวรับสถานการณ์ โดยเฉพาะเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้จัดทำแผนปฏิบัติการภาคเกษตร เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการดำเนินงานของภาคเกษตร ซึ่งจะเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่จะชี้นำทิศทางการปรับตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาที่ยังคงมีอยู่ในภาคเกษตร โดยมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาประเทศ เน้นการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น จึงขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างภาคการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีการดำเนินชีวิตด้วยความผาสุกอย่างยั่งยืนบนความพอเพียง และมีรายได้ที่มั่นคงไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร ยุทธศาสตร์พัฒนาสินค้าเกษตร ยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร และยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ
                 จากทิศทางการพัฒนาประเทศที่มุ่งใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรเพื่อตอบสนองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ทำให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ขาดสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์กับการอนุรักษ์และฟื้นฟู ส่งผลกระทบให้เกิดความเสื่อมโทรม ของทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรดิน ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) และแผนพัฒนาการเกษตรได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาภาคการเกษตร โดยเฉพาะทรัพยากรที่ดิน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาการเกษตรให้เกิดความยั่งยืน ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาทรัพยากรที่ดิน สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ และแผนพัฒนาการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดินจึงได้มีการศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำแผนพัฒนาทรัพยากรที่ดิน ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) โดยได้ระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้แผนพัฒนาทรัพยากรที่ดินที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วย ยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพบุคลากรสู่องค์กรแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ ยุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรและเครือข่ายงานพัฒนาที่ดิน ยุทธศาสตร์เร่งรัดการพัฒนาพื้นที่ทำการเกษตรให้มีความอุดมสมบูรณ์ ยุทธศาสตร์สร้างความเป็นเลิศของงานวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี และยุทธศาสตร์พัฒนาระบบธรรมาภิบาล ในการบริหารจัดการ โดยมีแผนการดำเนินงานที่สำคัญ คือ จัดทำศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีทางการเกษตร (เกษตรลดใช้สารเคมี) การปรับปรุงคุณภาพดิน การฟื้นฟูและป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การพัฒนาหมอดินอาสาและยุวหมอดิน จัดทำเขตพัฒนาที่ดิน ก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน พัฒนาที่ดินเพื่อเพิ่มผลผลิตพืชพลังงานทดแทน พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ ดินและน้ำ การป้องกันผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และการสำรวจและทำแผนที่ (ออร์โธสี) เพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “พัฒนาที่ดินให้สมบูรณ์ เพิ่มพูนผลผลิตในทิศทางใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน บนพื้นฐานความพอเพียง”
                 แผนพัฒนาทรัพยากรที่ดิน ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) จะเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ชี้นำทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรที่ดิน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางการพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปี เพื่อดำเนินการพัฒนาที่ดินให้สมบูรณ์เป็นรากฐานของการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน