:: การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติและการติดตามประเมินผล ::
          การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาทรัพยากรที่ดินในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 – 2554) สู่การปฏิบัติต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่สำคัญยิ่งคือ เกษตรกร เพื่อสามารถผนึกพลังความร่วมมือในการขับเคลื่อน โดยนำเอาแนวทางการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ของแผนมาแปลงไปสู่แผนปฏิบัติการในระดับพื้นที่ ให้สามารถนำไปขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และมีการติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ โดยมีแนวทางสำคัญ ดังนี้
4.1
เสริมสร้างบทบาทการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จัดทำแผนปฏิบัติการในระดับพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับมิติของงานตามภารกิจ มิติของพื้นที่ บูรณาการกับแผนชุมชน แผนจังหวัด/กลุ่มจังหวัด และภาคไปจนถึงแผนระดับชาติ
4.2
กำหนดแนวทางการพัฒนาที่สำคัญตามยุทธศาสตร์การพัฒนาในแผนพัฒนาทรัพยากรที่ดินในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 เพื่อทุกภาคส่วนสามารถนำไปขับเคลื่อนภายใต้บทบาทภารกิจของตน การสร้างความเข็มแข็งให้เกษตรกร การแก้ปัญหาความยากจนอย่างบูรณาการ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
4.3
เร่งปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้สัมฤทธิ์ผลในทางปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ภายใต้กรอบการปรับปรุงกฎหมายที่เอื้อต่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรที่ดิน เพื่อประโยชน์ต่อดินหรือที่ดินในการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของดิน เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้สูงขึ้น รวมทั้งการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อรักษาดุลธรรมชาติ คุ้มครองพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
4.4
วิจัยพัฒนาสร้างองค์ความรู้และกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพ และเผยแพร่ขยายผลสู่เกษตรกรให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในพื้นที่
4.5
พัฒนาระบบการติดตามประเมินผลและสร้างดัชนีชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินงานอย่างชัดเจน โดยให้มีระบบการตรวจติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างมีระบบที่จะสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงาน เช่น การตรวจติดตามผลการดำเนินงานตามข้อตกลงการทำงาน (PSA) การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) การตรวจสอบภายใน และมีระบบการบริหารความเสี่ยงของหน่วยงาน
4.6
พัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านทรัพยากรที่ดินทุกประเภทให้ถูกต้อง ทันสมัย ใช้อ้างอิงได้ เพื่อใช้ในการวางแผนให้ตอบสนองต่อการพัฒนาทรัพยากรที่ดินในช่วงแผนพัฒนา ฉบับที่ 10 ให้เป็นระบบที่เข้าถึงได้ง่าย และใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว