:: วิสัยทัศน์และพันธกิจการพัฒนาที่ดิน ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 - 2564) ::
 
1. วิสัยทัศน์ และทิศทางการพัฒนาที่ดิน ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12
      (พ.ศ. 2560 - 2564)
  "พัฒนาที่ดินให้สมบูรณ์ เพิ่มพูนผลผลิต ในทิศทางการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน บนพื้นฐานการมีส่วนร่วม"
  
นิยามวิสัยทัศน์ ดังนี้
 
พัฒนาที่ดินให้สมบูรณ์  :
อนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลาย ฟื้นฟูและปรับปรุงบำรุงดิน โดยใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ ที่กรมฯ ได้คิดค้น วิจัย และนำมาพัฒนาต่อยอดสำหรับแก้ไขปัญหาดินในพื้นที่ทำการเกษตร เพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการผลิตพืช และเป็นการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร 
 
การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน  :
การสำรวจ วิเคราะห์ จำแนกประเภทการใช้ที่ดิน วางแผนการใช้ที่ดิน การบริหารจัดการทรัพยากรดินและการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยพิจารณาปัจจัยทางกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตของดิน โดยให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพและยาวนาน
 
การมีส่วนร่วม  :
ภาคีเครือข่าย ได้แก่ หมอดินอาสา หมอดินน้อย เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรชุมชนท้องถิ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ดิน และการเผยแพร่องค์ความรู้วิชาการด้านการพัฒนาที่ดิน ผ่านภาคีเครือข่าย เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานพัฒนาที่ดินและนำไปพัฒนาต่อยอด มีการเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง
     
2. พันธกิจ
 
1.
สนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านการพัฒนาที่ดิน และส่งเสริมการมีส่วนร่วม การสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ
2.
เสริมสร้างพัฒนางานวิจัยด้านการพัฒนาที่ดิน และส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดินให้เกิดเป็นรูปธรรมเชิงนวัตกรรม สามารถนำไปถ่ายทอด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกร
3.
พัฒนาฐานข้อมูลดิน โดยการสำรวจ วิเคราะห์ และจำแนกดิน เพื่อกำหนดแผนการใช้ที่ดิน พร้อมทั้งกำหนดเขตการใช้ที่ดินที่เหมาะสม และให้บริการข้อมูลด้านต่าง ๆ อย่างถูกต้องและทันสมัย เพื่อให้เหมาะสมกับศักยภาพของดิน
4.
พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการพัฒนาที่ดิน โดยการอนุรักษ์ดินและน้ำ การฟื้นฟูปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างยั่งยืน
5.
พัฒนาหมอดินอาสา เกษตรกร ยุวเกษตรกร หมอดินน้อย และกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรให้มีความรู้ ความเข้าใจด้านการพัฒนาที่ดิน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามเนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิต และพัฒนาชุมชนตามศักยภาพให้มีความเข้มแข็ง
6.
พัฒนาองค์กรเพื่อให้เป็นองค์กรที่เป็นเลิศด้านการพัฒนาที่ดิน
   
3. อำนาจหน้าที่
 
1.
ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาที่ดินและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
2.
ศึกษา สำรวจ วิเคราะห์ และจำแนกดิน เพื่อกำหนดนโยบายและวางแผนการใช้ที่ดิน การกำหนดบริเวณการใช้ที่ดิน การควบคุมการใช้ที่ดินบริเวณที่มีการใช้หรือทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมี หรือวัตถุอื่นใด การกำหนดเขตการอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมทั้งติดตามสถานการณ์สภาพการใช้ที่ดิน
3.
ศึกษา วิจัย และพัฒนาการปรับปรุงบำรุงดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
เพื่อการเกษตรในไร่นา ตลอดจนการปรับปรุง และพัฒนาพื้นที่และการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร
4.
ให้บริการวิเคราะห์ และตรวจสอบดิน น้ำ พืช ปุ๋ย พร้อมให้คำแนะนำเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน
การอนุรักษ์ดินและน้ำ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ดิน
5.
ศึกษา วิเคราะห์ และผลิตแผนที่ภาพถ่าย จัดทำสำมะโนที่ดิน และพัฒนาระบบแผนที่ฐาน
เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการใช้ การพัฒนาการผลิต การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและอื่น ๆ
6.
ถ่ายทอดผลการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และให้บริการด้านการพัฒนาที่ดิน รวมทั้งสร้างเครือข่ายหมอดินอาสา และกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็งเพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี การมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ดินและในด้านอื่น ๆ
7.
ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรม หรือตามที่รัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย